มารยาทในสังคม
มารยาท คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความ นิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไรพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของ มารยาท คือ ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัวแต่ถือว่าเป็นความกล้า ส่วนความสำรวม คือ การเป็นคนมีสติ ไม่พูดไม่ทำอะไรที่เกินควร รู้จักการปฏิบัติที่พอเหมาะพองาม คิดดีแล้วจึงทำ คาดแล้วว่าการกระทำจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย มิใช่เฉพาะตัวคนเดียว
มารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดีมารยาทดีเท่ากันแต่อาจไม่เหมือนกัน เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกันด้วย มีตัวร่วม คือ แสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย สังคมใดมีคนแสดงมารยาทดีต่อกัน สังคมนั้นเป็นสังคมของผู้มีเกียรติ
การแต่งกายแสดงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม แล้วยังแสดงถึงอุปนิสัยใจคอ จิตใจ รสนิยม ตลอดจนการศึกษาและฐานะของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี การแต่งกายของผู้ที่อยู่ในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีหลักสำคัญที่ควร ปฏิบัติ2 ดังนี้
1. ความสะอาด ต้องเอาใส่เป็นพิเศษโดยเริ่มต้นด้วยเครื่องแต่ง กาย ได้แก่ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า เครื่องประดับ กระเป๋าถือ ต้องสะอาดหมด ใช้เครื่องสำอางค์แต่พอควรและร่างกาย ก็ต้องสะอาดทุกส่วนตั้งแต่ ผม ปาก ฟัน หน้าตา มือ แขน ลำตัว ขาและเท้าตลอดจนถึงเล็บ รวมไปถึงกลิ่นตัวที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ต้องอาบน้ำฟอกสบู่ให้หมดกลิ่นตัว ถ้าทำได้ทุกส่วน ก็ถือว่าสะอาด
2. ความสุภาพเรียบร้อย คือ เครื่องแต่งกายนั้นต้องอยู่ในลักษณะสุภาพเรียบร้อย ไม่รุ่มร่ามหรือรัดตัวจนเกินไป ไม่ใช้สีฉูดฉาด ควรแต่งให้เข้ากับสังคมนั้น ความสุภาพเรียบร้อยนั้นรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องประดับและการแต่งหน้าแต่งผมด้วย
3. ความถูกต้องกาลเทศะ การแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ เป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้มีมารยาทดีย่อมต้องเอาใจใส่ เพราะการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ หมายถึง การเลือกแต่งกายให้ถูกต้องเหมาะสมกับเวลายุคสมัยนิยมและสถานที่
ข้อควรปฏิบัติในการแต่งกาย
1. ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่จะไป เช่น งานมงคลก็ควรใส่สีสดใส งานอวมงคล ถ้าเป็นงานศพก็ควรใส่สีดำ เป็นต้น
2. ให้เหมาะสมกับความสำคัญของงาน เช่น งานระหว่างเพื่อนฝูง งานรัฐพิธี ถ้าเป็นงานศพ ก็ต้องดูว่าเป็นงานศพทั่วไปหรืองานศพพระราชพิธี
3. ให้เหมาะสมกับเวลา เช่น เป็นงานราตรีสโมสรหรืองานกลางคืนธรรมดา
4. ให้เหมาะสมกับฐานะและหน้าที่ เช่น เป็นครู เป็นนักร้อง เป็นหัวหน้า เป็นคนรับใช้
5. ให้เหมาะสมกับวัย เช่น เป็นคนมีอายุก็ไม่ควรแต่งเป็นวัยรุ่นเกินไปเป็นเด็กก็ไม่ควรแต่งให้เป็นผู้ใหญ่เกินไป
6. ให้เหมาะสมกับยุคและสมัยนิยม ไม่นำสมัยเกินไปหรือล้าสมัยเกินไป
7. พึงแต่งกายให้สมเกียรติกับงานที่ได้รับเชิญ